ภาวะแทรกซ้อน

การใส่คอนแทคเลนส์เป็นที่นิยมแพร่หลายในคนหลายล้านคนทั่วโลก พบว่าโดยเฉลี่ยต่อหนึ่งปี 1 ใน 20 ของคนที่ใส่คอนแทคเลนส์จะมีปัญหาเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนจากการใส่ ปัญหาเหล่านี้มีตั้งแต่ระดับที่ไม่รุนแรงสามารถหายเองได้จนถึงระดับที่รุนแรงมากและเป็นผลให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้ ฉะนั้นการตรวจวินิจฉัยได้โดยเร็วและให้การรักษาอย่างทันท่วงทีจะช่วยในการลดโอกาสการสูญเสียการมองเห็นจากภาวะแทรกซ้อนจากการใส่คอนแทคเลนส์ได้

ปัญหาที่พบมีได้ตั้งแต่เปลือกตา เยื่อบุตา และในทุกชั้นของกระจกตา

ปัญหาเกี่ยวกับเปลือกตา

■คอนแทคเลนส์ชนิดแข็งอาจมีการหลุดเลื่อนจากกระจกตาไปอยู่ใต้เปลือกตาบน และอาจมีการครูดกับผิวเยื่อบุตาเป็นเหตุให้ระคายเคืองได้ หรือชิ้นส่วนของคอนแทคเลนส์อาจตกค้างเกิดเป็นพังผืดหุ้มรอบชิ้นส่วนนั้น และกลายเป็นตุ่มหรือก้อนคล้ายซีสต์ที่เปลือกตาได้
■หนังตาตกเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น คอนแทคเลนส์อาจก่อให้เกิดการอักเสบบวมของเยื่อบุตาโดยเฉพาะเยื่อบุตาด้านบนทำให้หนังตามีการบวมและตก หรือการใส่คอนแทคเลนส์ชนิดแข็งซึ่งเวลาถอดออกจะต้องมีการดึงหนังตา เป็นเหตุให้เอ็นที่ทำหน้าที่ในการเปิดหนังตาถูกดึงยืดอยู่บ่อยๆ ทำให้เกิดการหย่อนยานและกลายเป็นหนังตาตก
ปัญหาเรื่องหนังตาตกสามารถแก้ไขได้โดยหยุดการใส่คอนแทคเลนส์ แต่หากหยุดใส่แล้วเป็นเวลาระยะหนึ่งยังคงมีหนังตาตกอาจสามารถแก้ไขด้วยการผ่าตัดได้







ภาพแสดงหนังตาตาตาซ้ายจากการใส่คอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง










ภาพแสดงชนิดส่วนของคอนแทคเลนส์ที่ตกค้างบริเวณเยื่อบุตา

ปัญหาเกี่ยวกับน้ำตา

น้ำตาทำหน้าที่ในการเคลือบผิวกระจกตาและเยื่อบุตาให้มีความเรียบลื่น ทำให้เกิดความใสในการมองเห็น เป็นแหล่งออกซิเจนของเซลล์ในกระจกตาและเยื่อบุตา รวมถึงตัวน้ำตาเองจะมีสารต่อต้านเชื้อโรคอยู่ด้วย ฉะนั้นสุขภาพของผิวด้านนอกของดวงตาเรา ขึ้นอยู่กับคุณภาพ ปริมาณและการไหลเวียนที่ดีของน้ำตา
การใส่คอนแทคเลนส์เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คุณภาพของน้ำตาเปลี่ยนแปลงไป ทำให้การไหลเวียนของน้ำตาที่กระจกตาลดลง การแลกเปลี่ยนออกซิเจนของเซลล์กระจกตาและเยื่อบุตาลดลง เป็นเหตุให้เซลล์ชั้นนอกของกระจกตาและเยื่อบุตาถูกทำลาย น้ำตาฉาบพื้นผิวได้ไม่ดี และอาจมีเศษโปรตีนตกค้าง ทำให้คุณภาพการมองเห็นลดลง

ปัญหาเกี่ยวกับเยื่อบุตา

■อาการแพ้คอนแทคเลนส์ทันทีที่มีการสัมผัสดวงตา ซึ่งอาจเกิดจากการแพ้วัสุดุที่ใช้ในการผลิตคอนแทคเลนส์ หรือสารทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ อาการแพ้ทำให้เกิดการคันอย่างมาก ร่วมกับมีเยื่อบุตาบวมแดง ระคายเคือง และน้ำตาไหล เปลือกตาก็อาจมีการบวมแดงด้วย การแพ้ชนิดนี้คล้ายกับภาวะภูมิแพ้ทั่วไป ซึ่งสามารถลดอาการโดยการถอดคอนแทคเลนส์ หรือหลีกเลี่ยงสารทำความสะอาดยี่ห้อที่ทำให้แพ้ ประคบเย็น และใช้ยาหยอดลดอาการแพ้
■เยื่อบุตาอักเสบ ชนิดที่เรียกว่า giant papillary conjunctivitis (GPC) พบได้ประมาณ 1-3% ของผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ มักพบในผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มมากกว่าชนิดแข็ง จะพบมีเยื่อบุตาแดง ขี้ตาเหนียวขุ่น คันตา น้ำตามีเศษโปรตีน หรือมีเศษโปรตีนติดทีเนื้อคอนแทคเลนส์ คอนแทคเลนส์มีการเลื่อนจากตำแหน่งของกระจกตาอย่างมาก เหล่านี้ก่อให้เกิดภาพมัวในการมอง การตรวจทางจักษุจะพบเยื่อบุตามีการบวมเป็นตุ่มใหญ่ดังภาพด้านล่าง







การรักษาภาวะ GPC ได้แก่การทำความสะอาดคอนแทคเลนส์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อขจัดคราบโปรตีนและสิ่งสกปรก การเปลี่ยนคอนแทคเลนส์ให้บ่อยขึ้น ลดระยะเวลาในการใส่ในแต่ละวัน รวมถึงเลือกชนิดของคอนแทคเลนส์ที่มีการเกาะของคราบโปรตีนน้อย
การรักษาด้วยยาหยอดจำพวกสเตียรอยด์จะช่วยลดการอักเสบได้ แต่ควรอยู่ในดุลยพินิจของจักษุแพทย์

■ผิวกระจกตาและเยื่อบุตาด้านบนอักเสบ ซึ่งเรียกว่า superior limbic keratoconjunctivitis (SLK) เป็นอาการแพ้อีกชนิดหนึ่งที่พบได้จากการใส่คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม ตรวจพบว่าเยื่อบุตาด้านบนมีการหนาตัวมากกว่าปรกติและแดง มีจุดแห้ง มักทำให้เกิดการระคายเคือง แพ้แสง น้ำตาไหล หรือปวดแสบได้ จุดแห้งที่เกิดขึ้นจะพบที่กระจกตาส่วนบนด้วยทำให้การมองเห็นลดลงได้ สาเหตุสำคัญของภาวะ SLK เกิดจากการที่คอนแทคเลนส์มีการเลื่อนตำแหน่งมากกว่าที่ควรจะเป็น หรือจากการแพ้สาร thimerosal ที่ใช้ทำความสะอาดเลนส์









การรักษาภาวะ SLK : หยุดการใส่คอนแทคเลนส์ร่วมกับการให้เจลหยอดตาเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นต่อผิวเยื่อบุตาจนกว่าเยื่อบุตาจะกลับสู่ภาวะปรกติ และอาการต่างๆ หายไป จากนั้นหากยังต้องการใส่คอนแทคเลนส์ควรได้รับการตรวจชนิด และดีไซน์ของคอนแทคเลนส์ที่จะใส่ใหม่ เพื่อให้มีตำแหน่งและการเลื่อนขยับของคอนแทคเลนส์ระหว่างการใส่ในระดับที่เหมาะสม รวมทั้งการเลือกใช้สารทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ที่ไม่มีตัว thimerosal